เมื่อลูกโดนยุงกัด ทำอย่างไรดี!

Last updated: 13 ก.ย. 2561  |  22310 จำนวนผู้เข้าชม  | 

เมื่อลูกโดนยุงกัด ทำอย่างไรดี!

เข้าสู่หน้าฝนแบบนี้ คงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องเจอกับเจ้ายุงตัวร้าย และแม้ปัญหายุงกัดลูก จะทำให้แม่ช้ำใจอยู่แล้ว หลังกัดยังทิ้งรอยแผลเป็นดำๆไว้ให้คุณแม่เครียดหนักเข้าไปอีก

ยุงที่กัดลูกๆของเราส่วนมาก เรียกว่า ยุงรำคาญ (Culex quinquefasciatus) เป็นยุงเพศเมียยุงประเภทนี้ ต้องการเลือดในการสร้างไข่ เมื่อยุงกัดจะปล่อยน้ำลายออกมาซึ่งในน้ำลายนี้เองมีสารโปรตีนที่เป็นสาเหตุของผื่นคันและการแพ้ และแพ้มากในเด็กเนื่องจากผิวบอบบาง ถึงแม้อาการแพ้ยุงจะไม่รุนแรงอะไร (ไม่ใช่ยุงที่เป็นพาหะนำโรค เช่น ยุงลายหรือยุงก้นปล่อง) แต่ก็ทำให้เกิดความรำคาญแก่เด็กไม่ใช่น้อย

อาการ แพ้ยุงของเด็ก

ในเด็กปกติที่ไม่แพ้ง่ายหรือไม่มีอาการแพ้ยุงอย่างรุนแรง ถ้าถูกยุงกัดก็จะเกิดตุ่มแดงขนาดเล็กๆ ขึ้นมา และใช้เวลาแป๊บเดียวก็จะยุบไปเอง แต่สำหรับเด็กที่มีผิวแพ้ง่าย เมื่อโดนยุงกัดแล้วจะเกิดตุ่มหนา แข็ง หรือมีตุ่มนูนแข็งตรงกลาง และมีรอยแดงรอบๆ ซึ่งจะใช้เวลานานหน่อย ตุ่มยุงกัดจึงจะหายไป หรือบางกรณีเมื่อรอยแดงและตุ่มยุบหายไปแล้ว จะเหลือเป็นดำอยู่อีกหลายเดือน ซึ่งแน่นอนว่า คุณพ่อคุณแม่ต้องกลุ้มใจ เพราะไม่อยากให้ผิวเนียนๆ ของลูกต้องมีรอยดำไม่สวย และกลัวว่าจะรักษาไม่หาย

ใครบ้างที่มักจะโดนยุงกัด?

ป้องกันอย่างไรให้ลูกปลอดภัยต่อยุง ยุงอาจเป็นพาหะโรคติดต่อร้ายแรง ดังนั้นควรหาวิธีป้องกันเอาไว้ก่อน

  1. อาวุธที่ควรมีทุกบ้านไม่แพง กันยุงได้ดี คือ มุ้ง ถึงแม้จะติดตาข่ายมุ้งลวดแต่ยุงก็สามารถเล็กลอดเข้ามาได้ กางมุ้งอีกรอบเพื่อความปลอดภัย
  2. เลือกใส่เสื้อผ้าสีอ่อนๆ เพราะผลการวิจัยพบว่า ยุงชอบสีเข้มๆ มากกว่าสีอ่อนๆ
  3. โลชั่นทากันยุง ตะไคร้หอม ป้องกันยุงได้ในช่วงสั้นประมาณ 20-30 นาที
  4. น้ำมันยูคาลิปตัสป้องกันยุงได้ในช่วงประมาณ 2-5 ชั่วโมง
  5. ใช้ยาป้องกันยุงชนิดที่ทำจากสารสกัดธรรมชาติ ไม่ควรใช้ชนิดที่เป็นสารเคมี เพราะอาจเป็นอันตรายได้โดยเฉพาะเด็กๆ อย่าทายากันยุงบริเวณร่มผ้า ให้ทาบางๆ ที่แขนขา ฉีดหรือหยดลงบนเสื้อผ้า ผ้าปูเตียง ผ้าห่ม หรือผ้าอ้อมเด็ก
  6. หากจะฉีดยากันยุงชนิดที่เป็นสารเคมี ควรฉีดในช่วงกลางวันหรือฉีดทิ้งไว้สักพักก่อนจะเข้าไปอยู่ในบริเวณนั้น เพื่อความปลอดภัย
  7. หลีกเลี่ยงมุมอับ ที่มืด และระมัดระวังช่วงเวลาที่ยุงจะชุมมากที่สุด นั่นก็คือช่วงหัวค่ำและรุ่งสาง ยกเว้นยุงลายที่ออกหากินเวลากลางวัน
  8. กำจัดยุงและแหล่งเพาะพันธุ์ยุงในบ้าน เช่น แจกันดอกไม้ จานรองขาตู้ ท่อน้ำ หรือบริเวณที่มีน้ำขัง

สำหรับการใช้ยากันยุง ยากันยุงเริ่มมีใช้ครั้งแรกในปี ค.ศ. 1964 ในกองทัพทหารสหรัฐ มีการนำยากันยุงมาใช้เพื่อช่วยป้องกันโรคที่ติดต่อที่มียุงเป็นพาหะ ยากันยุงออกฤทธิ์รบกวนกลไกการรับรู้กลิ่น เป็นสารป้องกันยุงกัดที่ มีกลิ่นที่ยุงไม่ชอบ ทำให้ยุงไม่เข้ามาใกล้

ยากันยุงที่ดีที่เหมาะสำหรับบ้านที่มีลูกเล็ก ต้องไม่ระคายเคืองต่อผิวหนัง ไม่มีสี ไม่มีกลิ่นเหม็นรุนแรง ล้างออกได้ง่าย ไม่เหนอะหนะ ไม่เปื้อนเสื้อผ้า และไม่ตกค้าง ส่วนประกอบในสารกันยุงมีทั้งเป็นสารที่สกัดจากพืช สมุนไพรหรือน้ำมันหอมระเหย เช่น ตะไคร้หอม ยูคาลิปตัส ขมิ้น ส้ม และยากันยุงที่มีส่วนผสมเป็นสารสังเคราะห์ เช่น DEET, picaridin, dimethyl phalate เป็นต้น

DEET คืออะไร DEET (N,N – diethyl – meta – toluamide) เป็นส่วนผสมที่พบได้ค่อนข้างบ่อยในผลิตภัณฑ์ป้องกันยุง ผลิตภัณฑ์ป้องกันยุงที่มีส่วนผสมของ DEET จะมีประสิทธิภาพในการป้องกันยุงกัดได้ตั้งแต่ 2 ชั่วโมง ถึง 10 ชั่วโมง แตกต่างกันขึ้นกับความเข้มข้นของ DEET ที่เติมเข้าไป


ในทารกและเด็กเล็กใช้ยากันยุงได้หรือไม่

ทุกครั้งก่อนเลือกซื้อยากันยุง ควรอ่านฉลากทุกครั้ง ไม่ควรใช้ยากันยุงในเด็กอายุน้อยกว่า 6 เดือน ควรเก็บยาให้พ้นมือเด็ก การใช้ยาในเด็กเล็กไม่ควรใช้บริเวณรอบดวงตาหรือปาก นอกจากการใช้ยาทากันยุง ยาจุดกันยุง การป้องกันยุงกัดยังมีอีกหลายวิธี เช่น สวมเสื้อสีอ่อนแขนยาว ขายาว กางมุ้ง หลีกเลี่ยงการไปในที่มีต้นไม้เยอะๆเนื่องจากอาจเป็นที่อยู่อาศัยของยุง การแปะสติกเกอร์กันยุง สายรัดข้อมือกันยุง การใช้ยากันยุงไฟฟ้า เครื่องดักยุง คุณแม่ที่มีลูกเล็กหากมีข้อสงสัยถึงความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ที่จะใช้ สามารถขอคำแนะนำเพิ่มเติมจากกุมารแพทย์และเภสัชกรได้ค่ะ


ขอบคุณข้อมูลจาก Amarin Baby & Kids (Jun 19, 2016)


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้